สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จัดแสดงสุดยอดนวัตกรรมในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ โดยเฉพาะผลงานระบบเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยดินถล่ม ต้นแบบใช้จริง ราคาถูก แก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจากเครื่องเตือนภัยแบบเดิม
นาวาเอกอนุสรณ์ ยังคุ้มญาติ หัวหน้านายทหารฝ่ายอำนวยการกรมการขนส่งทหารเรือ ในฐานะคณะผู้วิจัย กล่าวว่า ระบบเตือนภัยดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก เป็นการพัฒนาต่อยอดตามโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาการแก้ไขปัญหาดินถล่มบนที่สูงตามแนวพระราชดำริ โดยเครื่องเตือนภัยนี้พัฒนาขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านในท้องถิ่นใช้งานเองได้ เพื่อความปลอดภัยหากเกิดดินถล่มหรือน้ำป่าไหลหลาก สามารถเตือนภัยโดยอัตโนมัติตั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผ่านการใช้จริงที่บ้านผามูบ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นอำเภอที่เคยเกิดภัยพิบัติมาแล้ว ผู้ใช้จึงมีประสบการณ์ตรงจากการมีส่วนร่วมพัฒนาเครื่องมือ ทดลอง และใช้งาน ถือเป็นจังหวัดต้นแบบแรกในการแก้ปัญหาระบบแบบเดิมได้อย่างครบถ้วน
ระบบเตือนภัยที่พัฒนานี้ ประกอบด้วยตัวตรวจจับ เครื่องส่งสัญญาณและแสดงผล หลักการทำงานเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ เพราะชาวบ้านเป็นผู้ใช้งานเอง ดังนั้นจึงต้องง่ายในการสร้าง ใช้งาน และซ่อมบำรุง สามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้า 5 นาที ก่อนถึงพื้นที่ 4 กิโลเมตร ประเมินจากการใช้งานจริงจนถึงปัจจุบันเฉลี่ยเป็น ผู้วิจัยร่วมคิดร้อยละ 15-20 ชาวบ้านมีส่วนร่วมร้อยละ 50 และการนำไปใช้ร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยจะได้ผลเต็มร้อยก็ขึ้นอยู่กับการรับรู้เทคโนโลยีของชาวบ้าน และการใช้งานที่ต้องมีความต่อเนื่องจริงจัง เนื่องจากระบบเตือนภัยพิบัติดังกล่าวฯ พัฒนาให้มีความแตกต่างจากระบบแบบเดิม โดยคำนึงถึงความน่าเชื่อถือ ใช้ง่าย ราคาถูก ทนความชื้น ไม่ต้องกังวลกับกระแสไฟฟ้า ตรวจจับได้พื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงได้กว้างขึ้น พึ่งพาเจ้าหน้าที่ดูแลระบบน้อยลง เนื่องจากชาวบ้านติดตั้งได้เอง การบำรุงรักษาง่าย ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.ได้สนับสนุนงบประมาณในการต่อยอดพัฒนาต้นแบบระบบเตือนภัยนี้ ให้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรเทาสาธารณภัย พร้อมทั้งส่งมอบให้พื้นที่อื่น ๆ ใช้งานอย่างต่อเนื่องด้วย ถือได้ว่า ระบบเตือนภัยนี้สามารถแก้ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้อย่างครบถ้วนแล้ว และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาหากพบประเด็นปัญหาเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งการประยุกต์ใช้กับภัยพิบัติอื่น ๆ ตามสถานการณ์ ซึ่งแนวทางการพัฒนาเครื่องเตือนภัยนั้น สามารถปรับลักษณะการทำงานได้อย่างหลากหลาย โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยง
ผู้สนใจ เข้าชมได้ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 9-13 สิงหาคมนี้ ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีผลงานนวัตกรรมโดดเด่นอีกมากมาย ที่ วช.นำไปจัดแสดงในงาน เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารสกัดรวงข้าวหอมมะลิ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ระบบควบคุมสำหรับโรงเพาะเห็ดถั่งเช่าแบบอัตโนมัติ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี การใช้ผลิตภัณฑ์น้ำตะลิงปลิงเพื่อลดการสูบบุหรี่ จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง นวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และการวิจัยสู่นวัตกรรมเพื่อพัฒนายั่งยืนระดับโลก จากสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย เป็นต้น
จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445