สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร คิดค้น
“ มันอร่อยร่องกล้า ชาสีชมพู ณ ภูลมโล ”
ผลิตภัณฑ์ต่อยอดงานวิจัย สร้างมูลค่าให้ชุมชน และคุณค่าด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
เมื่อลมหนาวมาเยือน “ภูลมโล” คือหนึ่งเป้าหมายของเหล่านักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กับการสูดอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางดงดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย และสำหรับหนาวนี้ภูลมโลยังมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ให้ทั้งมูลค่าและคุณค่า โดยการดำเนินงานของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการวิจัย
มันอร่อยร่องกล้า ชาสีชมพูเป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอดงานวิจัยการจัดการการท่องเที่ยวบนพื้นที่ภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืนในการพัฒนาสินค้าคุณภาพเพื่อเป็นตัวอย่าง และเน้นเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์อีกด้วย
“ชาสีชมพูมีที่มาจากความสะพรั่งงดงามอร่ามตาของดอกนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทย ทำให้ภูลมโลได้ชื่อว่าเป็นภูเขาสีชมพูจึงได้ศึกษา วิจัย ทดลองทำชาสีชมพูขึ้น โดยใช้พืชสมุนไพรพื้นบ้าน คือ เตยหอม ผสมผสานกับสมุนไพรธรรมชาติอื่น ๆ สกัดออกมาเป็นชาสีชมพู” ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินมหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของผลงานวิจัยเล่าที่มา
จากการศึกษาจนกระทั่งได้ชาสีชมพูตามที่ต้องการแล้ว จึงผลิตเป็นเป็นชาสำเร็จรูปเพื่อความสะดวก เพียงแค่เทน้ำร้อนจัดลงในแก้ว ชาก็จะค่อย ๆ ปรากฏเป็นสีชมพูอ่อน มีกลิ่นหอม รสชาติเย็นชุ่มคอ มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าการดื่มชาทั่วไป
“สำหรับมันอร่อยร่องกล้านั้น เกิดจากการลงพื้นที่พบว่าบนภูลมโลมีการปลูกพืชผักผลไม้เป็นจำนวนมาก เช่น กะหล่ำ ลูกพลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันญี่ปุ่นซึ่งปกติชาวบ้านจะขายมันแบบสด กิโลกรัมละประมาณ ๑๔ บาท จึงคิดว่าถ้าเรานำมันมาแปรรูปโดยการอบ เผา หรือใช้กระบวนการให้รวดเร็วขึ้น ก็จะสามารถนำมาเป็นสินค้าของท้องถิ่นจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวได้ แถมยังมีราคาสูงกว่าการขายแบบสดด้วย นอกจากการเพิ่มมูลค่าแล้ว ยังเพิ่มคุณค่าด้วยการบรรจุมันลงในถุงกระดาษที่ออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้คำว่า ‘มัน’ ยังหมายถึงการชมธรรมชาติด้วยการปั่นจักยาน บนเส้นทางอันวิบากและทรหด ทำให้เกิดความมัน สนุกสนาน จึงเกิดเป็นอาหารการกินอร่อย วิถีธรรมชาติอร่อย”
ถุงกระดาษมันอร่อยร่องกล้านี้ไม่ได้มีประโยชน์เพียงบรรจุมันอบหรือมันเผาไว้รับประทานเท่านั้น บนถุงยังมีแผนที่ท่องเที่ยวบนภูลมโลอย่างละเอียดครบถ้วน ทั่วถึงชัดเจน ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา และเก็บเป็นของที่ระลึกได้อีกด้วย ภายใต้แบรนด์NUKSซึ่งเป็นช่อย่อภาษาอังกฤษของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
มันอร่อยร่องกล้าและชาสีชมพูจึงนับเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์จากการต่อยอดงานวิจัยที่เป็นรูปธรรม มีประโยชน์แก่ชุมชน โดยเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร และคุณค่าด้านการท่องเที่ยวบนภูเขาสีชมพู “ภูลมโล”
“หนาวนี้ขอเชิญพบกับมันอร่อยร่องกล้า ชิมชาสีชมพู ดูซากุระเมืองไทย ในดินแดนภูลมโล”
พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น