สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เดินหน้าตั้งเป้าขยายผลธนาคารปูม้า 500 ชุมชน ภายใน 2 ปี ขณะที่รัฐบาลหวังผล สร้างตราสินค้าปูม้าให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขยายผล "ธนาคารปูม้า" เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. พร้อมมอบป้ายโลโก้ธนาคารปูม้าให้แก่เครือข่ายธนาคารปูม้า ณ อาคารเรียนรู้ชุมชน บ้านน้ำราบ ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดย ดร.กอบศักดิ์ฯ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับ การขยายผลธนาคารปูม้าของชุมชน เนื่องจากสร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประมงพื้นบ้าน คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้ วช.ขยายผล เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน โดยบูรณาการทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนสู่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ 500 ชุมชน ให้สำเร็จภายใน 2 ปี และนำร่องที่ชุมชนจังหวัดตรังเป็นแห่งแรก
'ธนาคารปูม้า" เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทบ เป็นกิจกรรมที่ชาวประมงชายฝั่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า โดยรัฐบาลส่งเสริม และ วช.นำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ต่อยอด ขยายผล เนื่องจากขณะนี้มีเอกชนสนใจ จะรับซื้อปูม้าแบบไม่จำกัดจำนวน ดังนั้น ชาวบ้านควรช่วยกันสร้างธนาคารปูม้าชุมชนเพื่อให้ลูกปูม้ามีชีวิตรอดคืนสู่ทะเลมากขึ้น เชื่อว่าจะสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี ของคนในชุมชน อีกทั้งคาดหวังว่า ในอนาคตประเทศไทยอาจเป็นมหาอำนาจปูม้าของโลก โดยรัฐบาลจะขับเคลื่อนเต็มที่ และสร้างโครงข่ายธนาคารปูม้าทั่วทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ภายใต้โลโก้ หรือตราสินค้าปูม้า ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากความร่วมมือของกลุ่มประมงจังหวัดตรังและหลายภาคส่วนที่ช่วยกันคิดช่วยกันบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มแข็ง ทำให้จังหวัดตรัง เป็นเมืองคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ชุมชนประมงชายฝั่ง คงได้หลักคิดเกี่ยวกับธนาคารปูม้าเพื่อร่วมกันรักษาทรัพยากรปูม้าไว้ให้ยั่งยืน
ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ได้รับมอบหมายให้ขยายผล "ธนาคารปูม้า" เพื่อนำผลงานวิจัยมาใช้ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยร่วมกับเครือข่ายต่างๆในการขับเคลื่อนธนาคารปูม้า ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรก ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชน และขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ ทั้งอ่าวไทยและอันดามันไม่น้อยกว่า 500 ชุมชน ภายใน 2 ปี โดยการดำเนินการในปีแรก เบื้องต้นกำหนดไว้ 350 ชุมชน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นชุมชนเข้มแข็ง 150 ชุมชน
ปัจจุบัน มีชุมชนประมงชายฝั่ง ทั่วประเทศราว 4,000 ชุมชน ซึ่ง วช.จะเป็น ศูนย์รวมการสร้างรูปแบบการทำ "ธนาคารปูม้า" ของชุมชน ด้วยวิธีการถอดบทเรียนความสำเร็จ ในงานวิจัยและนำมาขยายผล ให้เหมาะสมกับชุมชนนั้น ๆ เนื่องจากแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน เช่น ชุมชนใดมีสภาพเหมือนชุมชนบ้านน้ำราบ ก็ใข้รูปแบบธนาคารปูม้าแบบเดียวกับบ้านน้ำราบ เป็นต้น
จากนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ร่วมกันปล่อยลูกปูม้าคืนสู่ทะเลกว่า 5 ล้านตัว
ในวันเดียวกัน เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ใช้โอกาสนี้นำผู้บริหาร วช. และสื่อมวลชนร่วมกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลกับชุมชนประมงพื้นบ้าน ณ อ่าวสิเกา เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศชายฝั่ง จังหวัดตรัง เนื่องจากธนาคารปูม้า และหญ้าทะเล เป็นหัวใจสำคัญ ที่ชุมชนดำเนินการอยู่แล้ว
จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น