วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

นักวิจัยหวังให้ วช.หนุนใช้โปรแกรมจับคู่เดินทาง



             นักวิจัยสร้างทางเลือกการเดินทางด้วยโปรแกรมจับคู่เดินทางร่วมอัตโนมัติทางรถยนต์ ผลงานวิจัยรางวัลระดับนานาชาติ ช่วยลดการใช้พลังงานและค่าใช้จ่าย หวังให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นำร่องการใช้ในหน่วยงานราชการ





              ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ และคณะ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน “โปรแกรมสำหรับจับคู่การเดินทางร่วมกันแบบอัตโนมัติทางรถยนต์ส่วนบุคคลและรถแท๊กซี่ ด้วยฐานเวลาปัจจุบัน” โดยโปรแกรมมีระบบค้นหาความต้องการและแนะนำเส้นทาง วันเวลา จำนวนและค่าโดยสารแบบอัตโนมัติ และยังมีระบบแชทเพื่อใช้สื่อสารระหว่างผู้เดินทาง โครงการนี้จะเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้งาน ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานและลดโลกร้อน ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามผลักดันการใช้รถยนต์ร่วมกัน แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จจากปัญหาหลายปัจจัย โดยเฉพาะกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และหาคนร่วมเดินทางไม่พบ เป็นต้น เนื่องจากไม่มีการเชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่าย ขณะที่โปรแกรมนี้เปลี่ยนจากเดิมให้เป็นการจับคู่เดินทางโดยรู้จักกันบนฐานของออนไลน์หรือเชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถจับคู่กันได้ง่ายขึ้น




              ส่วนเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ก็ขึ้นอยู่กับการปรับความคิดและทัศนคติของแต่ละคน แน่นอนว่าการเริ่มต้นสิ่งใหม่ย่อมเกิดความไม่มั่นใจและไม่ยอมรับ เช่น Internet Banking ช่วงแรกก็ห่วงเรื่องความปลอดภัย พอผ่านไปสักระยะก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้คณะนักวิจัยจึงตั้งโจทย์จากเรื่อง Smart University ของมหาวิทยาลัยธรรมธรรมศาสตร์ ซึ่งจะ Smart ได้ต้องมีแชร์ริ่งหรือจับคู่เรื่องต่าง ๆ โดยเริ่มจากปัญหาการเดินทางของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะรถโดยสารประจำทางระหว่างท่าพระจันทร์กับรังสิตมีไม่เพียงพอ ขณะที่นักศึกษาที่มีรถยนต์ส่วนตัวก็มีที่ว่างเหลือ แต่ไม่รู้จะชวนใครโดยสารไปด้วย ทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนักศึกษาและบุคลากรราว 40,000 คน  หากสามารถใช้โปรแกรมนี้สำเร็จก็อาจขยายไปยังเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน ซึ่งเป็นนักศึกษาที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย อีกทั้งภายในมหาวิทยาลัยยังลดข้อจำกัดหรือความกังวลเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว เพราะอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน จึงให้เริ่มต้นใช้ก่อนเพื่อขยายผลในวงกว้างต่อไป




             นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ซึ่งนำคณะวิจัยโปรแกรมนี้ไปแสดงและประกวดที่สมาพันธรัฐสวิส จนได้รับรางวัลใหญ่ระดับนานาชาติแห่งนครเจนีวา และรางวัลเหรียญทอง ให้ช่วยผลักดันหน่วยงานราชการนำร่องเรื่องการจับคู่การเดินทางด้วยโปรแกรมอัตโนมัติทางรถยนต์ฯ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่จอดรถของหน่วยราชการ รวมทั้งปัญหาจราจร และลดค่าใข้จ่ายของเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ จากการเดินทางร่วมกัน โดยวิธีการผู้ใช้จะต้องเสนอการเดินทางผ่านแอฟ และกำหนดว่าจะไปไหน เวลาอะไร รถยนต์ว่างกี่ที่นั่ง เพื่อให้ผู้ที่ต้องการเดินทางร่วมเสนอตัว หากความต้องการตรงกัน โปรแกรมจะจับคู่ให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเจ้าของรถสามารถปฏิเสธได้ แต่ผู้เสนอตัวจะต้องเป็นผู้ใช้แอฟเหมือนกันด้วย โดยแอฟจะมีข้อมูลผู้ใช้ทุกคน  ทั้งนี้พื้นฐานงานวิจัยเริ่มต้นจากการแบ่งปันไม่ใช่การหาเงิน แต่เพื่อลดค่าใช้จ่าย ต่างจากการใช้แท็กซี่ผ่านแอฟที่เน้นหาเงิน และผู้กำหนดเส้นทางคือผู้โดยสาร แต่โปรแกรมนี้เจ้าของรถเป็นผู้กำหนดเส้นทางและเน้นแบ่งปัน




             อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมให้คนยอมรับอย่างยั่งยืน และต่อยอดให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้โปรแกรมดังกล่าว เพื่อให้สังคมร่วมกันแชร์และแบ่งปัน หากรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองผ่านโปรแกรมจับคู่ทางรถยนต์ เชื่อว่าจะตอบสนองนโยบาย “ปีท่องเที่ยววิถึไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน”




จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์  เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น